วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559 | By: กาลาโต้

"คุณภาพหรือปริมาณ???"



คนรักกาแฟและคอกาแฟทุกท่านครับ

หากจะพูดถึงเรื่องของข่าวคราว ความเคลื่อนไหวของแวดวงกาแฟเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมานี้เชื่อว่าคงไม่มีข่าวไหนที่จะเด่นไปกว่าเรื่องของแคมเปญการตลาดระหว่างร้านกาแฟแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Starbucks และร้านกาแฟแบรนด์ไทยที่ขยายสาขาแบบเรียกว่าต่อเนื่องไปทุกๆ วันอย่าง Cafe Amazon ที่เริ่มแรกเป็นเพียงแค่บทความที่เขียนลงในเว็บ Smart SME ที่มีการพูดถึงเรื่องของแคมเปญดังในต่างประเทศที่ครั้งหนึ่งร้านโดนัทระดับโลกอย่าง Dunkins Donuts เคยนำมาใช้อย่างห้าวหาญนั่นก็คิอแคมเปญ #dunkinsbeatstarbuck พร้อมกับผู้เขียนได้ลองนำเอาแคมเปญดังกล่าวมาลองทำและนำเสนอในบ้านเรานั่นก็คือ #amazonbeatstarbuck โดยมีการพูดถึงเรื่องของการเติบโตของร้าน Cafe Amazon และการเติบโตของกาแฟแบรนด์ไทย (อ่าน : แคมเปญการตลาดกาแฟดุเดือด #amazonbeatstarbucks Amazon โค่น Starbucks )




และแน่นอนครับว่าผ่านพ้นไปไม่เท่าไหร่ เจ้า Topic เรื่องที่ว่านี้ก็ไปโผล่ยังเว็บไซต์แสดงความคิดเห็นชื่อดังของไทยอย่าง pantip ทันทีโดยมีคนไปตั้งหัวข้อว่า "ทำไม กาแฟAmazon(สัญชาติไทย)1,700สาขา ถึงยังสู้ สตาร์บัค(starbucks) ของเมกายังไม่ได้" โดยมีการ quote ข้อความจากบทความต้นฉบับมาโพสต์ไว้ซึ่งก็แน่นอนครับว่าคำตอบทีไ่ด้นั้นมันมีมากมายแตกต่างกันออกไป


จากการที่ผมได้อ่านบทความในแหล่งข้างต้นและอ่านคอมเมนต์หรือความคิดเห็นในเว็บบอร์ดชื่อดังทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่าท้ายที่สุดแล้วความสำเร็จของร้านกาแฟที่แท้จริงนั้นมันอยู่ที่ "ปริมาณหรือคุณภาพ" กันแน่



ในวงการธุรกิจอื่นๆ อาจจะวัดความสำเร็จของธุรกิจด้วยปริมาณสาขาที่แผ่ขยายแพร่กระจายออกไปเรียกว่ายิ่งมีสาขามากยิ่งดี ยิ่งมีสาขาเยอะยิ่งประสบความสำเร็จแต่สำหรับวงการกาแฟแล้ว "สาขาที่มาก" อาจจะไม่ใช่ตัววัดหรือตัวบ่งชี้ความสำเร็จหรือความนิยมเสมอไป

มีหลายคนที่พูดตรงกันว่ารสชาติกาแฟของแบรนด์นกแก้วนั้นยังไม่คงที่ สั่งแต่ละที่ แต่ละสาขาแม้ว่าจะเป็นกาแฟชนิดเดียวกันแต่รสชาติกลับไม่เหมือนกัน แม้แต่ว่าสาขาเดียวกันแต่สั่งคนละวันรสชาติก็ยังไม่เหมือนกัน บางคนก็ว่าร้านกาแฟแบรนด์นางเงือกขายความเป็น Experience หรือความเป็นประสบการณ์ร่วมระหว่างร้านกาแฟกับคนที่รับประทานกาแฟจนทำให้ร้านกาแฟเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สามของผู้ดื่มกาแฟ และยังมีอื่นๆ อีกมากมายที่คอกาแฟต่างไปแสดงความคิดเห็น



ในเรื่องนี้ผมเองก็ไม่อาจจะบอกหรือตอบได้ครับว่าร้านกาแฟแบรนด์ไทยจะก้าวไปตีตลาดเทียบเคียงกาแฟแบรนด์นอกที่มี Story อันยาวนานได้หรือไม่เพราะกาแฟแต่ละแบรนด์ก็ย่อมต้องมีกลยุทธและวิธีการทำการตลาดของตนเอง คงไม่มีใครที่ทำธุรกิจแล้วอยากเป็นรองคนอื่นหรอกครับหากแต่ผมมองว่าบางครั้งการที่จะก้าวไปเป็นที่หนึ่งได้นั้นบางครั้งมันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแข่งกับคนอื่นเสมอไปครับเพราะถ้าหากเราแข่งขันกับตัวเอง พัฒนาสิ่งที่ตนเองมีอยู่ให้ดีขึ้น ฟังความคิดเห็นของลูกค้าที่มาร่วมแชร์และแบ่งปันประสบการณ์แล้วล่ะก็ในที่สุดแม้ว่าจะไม่ได้ขึ้นเป็นแบรนด์หนึ่งในตลาดแต่ทว่ามันเองก็อาจจะขึ้นเป็นแบรนด์หนึ่งในใจคนกินกาแฟก็เป็นได้ครับ

                                                                                                           กาลาโต้
วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559 | By: กาลาโต้

สิ่งที่บาริสต้าอยากให้คุณรู้

เบื้องหลังกาแฟแก้วหอมกรุ่น และบรรยากาศน่านั่ง “บาริสต้า” ผู้เสิร์ฟเครื่องดื่มดีๆ ให้กับคุณ มีอะไรอยากจะบอก

เรื่องนี้...บาริสต้าขอ


1. ตอนสั่งกาแฟ หลีกเลี่ยงการสั่งกาแฟเป็นภาษาสตาร์บัค หากคุณไม่ได้อยู่ร้านสตาร์บัค ขอให้ใช้คำศัพท์ทั่วไป และหากเป็นไปได้ อย่าก้มหน้าดูมือถือเช็คเฟสบุค ขณะที่กำลังสั่งกาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีคนยืนต่อคิวคุณอยู่

2. ตอนรอเครื่องดื่ม กาแฟเป็นเรื่องของศิลปะ จึงต้องใช้เวลาในการชงและประดิษฐ์ ขอให้ลูกค้าอดทนรอกันหน่อย นอกจากนี้บาริสต้าก็อยากคุยกับลูกค้าทุกคน แต่ถ้าในขณะนั้นมีออเดอร์เยอะ ก็อาจจะต้องก้มหน้าก้มตาชงกาแฟอย่างเดียว

3. หากบาริสต้าชงผิด กาแฟในมือคุณไม่ได้มีรสชาติหรือสเปคอย่างที่คุณสั่ง คุณสามารถนำกลับไปให้บาริสต้าชงใหม่ได้ ดีกว่าที่จะเดินออกจากร้านไปแล้วบ่น โดยที่บาริสต้าไม่รู้อะไรเลย
4. คำขอบคุณของลูกค้ามีความหมายเสมอ แม้จะเป็นช่วงเวลาที่บาริสต้ายุ่งมากๆ ก็ตาม พวกเขาก็ยังอยากได้ยินคำขอบคุณจากคุณ

5. นั่งนาน หากคุณตั้งใจจะใช้เวลาที่ร้านเป็นเวลานาน ช่วยสั่งเครื่องดื่มทางร้านบ้างจะดีมากๆ

6. ทิปส์และการจ่ายเงิน การให้ทริปกับบาริสต้าช่วยให้พวกเขามีกำลังใจทำงานอีกเยอะเลย

7. สเปคกาแฟแบบละเอียดยิบ เช่น กาแฟร้อนที่ 178 องศา อาจทำให้บาริสต้างง และทำได้เพียงแค่ใช้น้ำร้อนมากในการชงเท่านั้น

8. แก้วเซรามิค หากคุณวางแผนไว้ว่าจะนั่งที่ร้านเป็นเวลานาน บาริสต้ายินดีจะเสิร์ฟกาแฟในแก้วเซรามิคให้ ลูกค้าจะได้เอ็นจอยกับรสชาติกาแฟมากกว่า แถมทางร้านก็ได้ลดขยะด้วย

9. บาริสต้ากังวลเมื่อไม่เห็นคุณ เมื่อคุณเป็นลูกค้าประจำของร้านกาแฟ แต่ไม่ได้แวะไปที่ร้านเหมือนทุกๆ วัน บาริสต้าจะเริ่มกังวลว่าคุณหายไปไหน

จะว่าไปแล้ว บาริสต้าเป็นงานที่ไม่ง่าย เพราะเท่ากับว่าต้องทำทั้งงานศิลปะ และงานบริการในคราวเดียว ดังนั้น ครั้งต่อไปที่คุณแวะร้านกาแฟ หลังจากชิลล์กับเครื่องดื่มผสมคาเฟอีนหอมกรุ่น และพร้อมนอนดึก เพื่อบันเทิงไปกับ M88  แล้ว อย่าลืมมอบรอยยิ้มและมิตรภาพให้กับพวกเขา การให้ความร่วมมือ และเป็นลูกค้าที่น่ารัก ก็จะช่วยให้บาริสต้ามีกำลังใจในการทำงาน และชงกาแฟรสชาติดีให้กับคุณได้อีกเยอะ


วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 | By: กาลาโต้

ในหลวงกับวงการกาแฟไทย ธ เสด็จไกลกันดาร เพื่อกาแฟเพียงต้นเดียว



คนรักกาแฟทุกท่านครับ

วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมาเป็นวันแห่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยทุกคนอีกครั้งหนึ่งเมื่อข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร หรือที่เราคนไทยเรียกพระองค์อย่างสั้นๆ ว่า "ในหลวง" ได้ปรากฎขึ้นทำให้คนไทยทั้งประเทศรวมไปถึงผู้ที่จงรักภักดีต่อพระองค์จากทั่วโลกต่างแสดงความเศร้าโศกเสียใจด้วยเพราะพระองค์นั้นเป็นผู้ที่ทรงคุณประโยชน์นานับประการให้กับประเทสและพสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง ทางเพจและทาง Blog "เรื่องของคนรักกาแฟ" ขอกราบแทบฝ่าพระบาทส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและร่วมถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติของพระองค์ในบทความตอนนี้กระผมขอนำเสนอพระราชกรณียกิจหนึ่งของพระองค์ที่ก่อให้เกิดคุณูปการต่อวงการกาแฟของไทยนั่นก็คือเรื่องของ "ในหลวงกับวงการกาแฟไทย"

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ พุทธศักราช 2517 โดยพล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร เล่าไว้ในหนังสือ "รอยพระยุคลบาท บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร" ความตอนหนึ่งว่า



“ในท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่สับสนและวุ่นวายในปลายปีพุทธศักราช ๒๕๑๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งมวลเป็นปกติโดยไม่ทรงหวั่นไหว โดยเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ ตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ที่เชียงใหม่ และเสด็จออกเยี่ยมเยียนราษฎรทั้งราษฎรชาวเขาเผ่าต่างๆ กับประชาชนซึ่งอยู่ในที่ราบลุ่มตามที่ทรงปฏิบัติเสมอมาทุกปี ครั้งนั้นเจ้าอยู่หัวทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง ซึ่งทรงกระทำเช่นนี้เป็นปกติ ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งฝ่าฝุ่นแดงและความลุ่มดอนของถนนในสมัยนั้นออกเยี่ยมราษฎรอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่

ในวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๑๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จฯ เสด็จไปเยี่ยมเยียนราษฎรซึ่งเป็นชาวเขาบนดอยอินทนนท์ ในการทรงเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาครั้งนี้ หลังจากเสด็จด้วยรถยนต์พระที่นั่งทรงเยี่ยมชาวเขาเผ่าม้งที่บ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง แล้ว 


พระองค์และสมเด็จฯ ยังได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท ไปตามไหล่เขาที่สูงบ้างต่ำบ้างเป็นระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร เพื่อทรงเยี่ยมชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บ้านอังกาน้อย และทรงพระดำเนินต่อไปอีก 2 กิโลเมตร เพื่อพระราชทานไก่พันธุ์โร้ดไอส์แลนด์เร็ดและผ้าห่มให้แก่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บ้านท่าฝั่งเช่นเดียวกับที่บ้านอังกาน้อย


ต่อจากนั้นยังทรงพระดำเนินต่อไปอีกประมาณหนึ่งกิโลเมตร จนถึงไร่กาแฟที่ราษฎรชาวกะเหรี่ยงปลูกไว้ รวมเป็นระยะทางที่ทรงพระดำเนินทั้งสิ้นในบ่ายวันนั้นประมาณ ๖ กิโลเมตร เพื่อทอดพระเนตรไร่กาแฟที่มีต้นกาแฟให้พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเพียงต้นเดียว 

เสร็จจากการทอดพระเนตรต้นกาแฟต้นเดียวแล้ว พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ ยังต้องทรงพระดำเนินกลับออกไปยังรถยนต์พระที่นั่งที่จอดไว้ที่แยกปากทางเข้าบ้านอังกาน้อย รวมเป็นระยะทางที่เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทในวันนั้นประมาณ ๑๒ กิโลเมตร แล้วพระเจ้าอยู่หัวยังต้องทรงขับรถยนต์พระที่นั่งกลับด้วยพระองค์เองอีกจนถึงพระตำหนักด้วย..."

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างความสงสัยให้กับคณะและผู้ที่ติดตามพระองค์เป็นอันมากว่าเหตุไฉนพระองค์จึงต้องทรงดั้นด้นเดินทางเป็นระยะทางไกลมากมายขนาดนั้นเพื่อไปทอดพระเนตรเพียงแค่ต้นกาแฟต้นเล็กๆ ต้นเดียวซึ่งพระองค์ก็น่าจะทราบความฉงนสงสัยที่ว่านี้จึงได้มีพระราชกระแสกับข้าราชบริพาร ที่อยู่ในขบวนเสด็จฯ ที่ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของพระองค์ ด้วยพระสุรเสียงที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาว่า



"...แต่ก่อนเขาปลูกฝิ่น เราไปพูดจาชี้แจง ชักชวนให้เขามาลองปลูกกาแฟแทน กะเหรี่ยงไม่เคยปลูกกาแฟมาก่อน ยังดีที่กาแฟไม่ตายเสียหมด แต่ยังเหลืออยู่หนึ่งต้นนั้น ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้า สำหรับกะเหรี่ยง... จึงต้องเสด็จฯ ไปทอดพระเนตร จะได้แนะนำเขาต่อไปว่า ทำอย่างไรกาแฟ จึงจะเหลืออยู่มากกว่าหนึ่งต้น"

ปรากฏว่าปีต่อมา ราษฎรชาวกะเหรี่ยง ดอยอินทนนท์ขายกาแฟ ได้เป็นเงินต่อไร่ต่อปี สูงกว่าที่เคยขายฝิ่นได้ และนับแต่นั้นเป็นต้นมาบรรดาชาวเขาก็ได้ร่วมมือกันกับภาครัฐเริ่มต้นปลูกและพัฒนาเมล็ดกาแฟกันอย่างจริงจังจนทใำห้กาแฟของไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกดังเช่นทุกวันนี้แถมยังเป็นการช่วยกำจัดการปลูกฝิ่นในบ้านเราและสร้างอาชีพให้กับชาวเขาและชาวบ้านสืบไป จึงนับเป็นพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่สำหรับชาวไทยภูเขาและชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารที่คนไทยทั่วประเทศและทั่วโลกมิเคยลืมเลือน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

                                                                                                                   กาลาโต้
วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559 | By: กาลาโต้

เคล็ดลับความเข้มของกาแฟ All Cafe ที่ 7 Eleven

คนรักกาแฟทุกท่านครับ

เคล็ดลับความเข้มของกาแฟ All Cafe ที่ 7 Eleven



เมื่อพูดถึงกาแฟสดที่ขายกันอยู่ในร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง อย่าง 7-Eleven แล้วล่ะก็เชื่อว่าคอกาแฟสดทั้งหลายคงจะทราบดีว่ามีอยู่ 2 แบรนด์ด้วยกันนั่นก็คือ Kudsan (คัดสรร) และ All Cafe (ออลคาเฟ่) ซึ่
ความแตกต่างของทั้งสองแบรนด์นี้เป็นที่รู้กันครับว่าอยู่ที่กรรมวิธีการชงโดยถ้าหากว่าเป็น Kudsan นั้นจะเป็นการใช้พนักงานชงโดยเริ่มตั้งแต่การบดเมล็ด การกดผงกาแฟ การชง ในขณะที่ All Cafe เองนั้นกรรมวิธีส่วนใหญ่จะผ่านเครื่องชงกาแฟสดกึ่งอัตโนมัติดังนั้นจึงทำให้เกิดความแตกต่างที่เด่นชัดอย่างหนึ่งนั่นก็คือเรื่องรสชาติโดยหลายคนที่ได้ลิ้มลองกาฟทั้งสองแบรนด์นี้ส่วนใหญ่จะพูดตรงกันว่ากาแฟ All Cafe รสชาติจะอ่อนกว่า Kudsan ซึ่งก็ต้องยอมรับครับว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ



แต่ทว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่คอกาแฟสดของแบรนด์ทั้งสองโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ชอบกินกาแฟเข้มๆ แต่ต้องอาศัยฝากปากท้องไว้กับ All Cafe ยังไม่รู้นั่นก็คือเราสามารถทำให้กาแฟ All Cafe นั้นมีรสชาติที่เข้มขึ้นได้ครับด้วยการสั่งให้พนักงาน "เพิ่มช็อต" ให้ซึ่งหลายคนไม่รู้จริงๆ ครับว่ากาแฟของ All Cafe นั้นสามารถสั่งให้เพิ่มช็อตได้โดยจะมีแบ่งเป็น 2 ช็อตและ 3 ช็อตครับแต่ผมแนะนำว่าเอาแค่เพิ่มช็อตธรรมดาก็พอครับรับรองเข้มข้นขึ้นถึงใจอย่างแน่นอนซึ่งการเพิ่มช็อตนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาครับนั่นก็คือ 15 บาทซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับกาแฟของ Kudsan แล้วราคาก็จะใกล้เคียงกันมากครับ

ที่พูดมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่การนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งของกาแฟ All Cafe ที่ยังไม่รู้หรือยังมีคนรู้น้อยเท่านั้นครับส่วนจะเลือกใช้บริการหรือไม่หรือเลือกที่จะไปกินกาแฟแบรนด์อื่นก็แล้วแต่ท่านจะเห็นควรและพิจารณาเลือกตามความชอบครับผม

                                                                                                                    กาลาโต้
วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559 | By: กาลาโต้

เรื่องน่ารู้ : เคยเป็นไหมกินกาแฟแล้วง่วงนอน


สวัสดีคนรักกาแฟทุกท่านครับ

ผมเองเชื่อเหลือเกินครับว่าแทบจะทุกคนบนโลกนี้ที่รู้ซึ้งถึงสรรพคุณของกาแฟว่ามันนั้นมีสารคาเฟอีนที่ทำให้ลดอาการง่วงนอนและช่วยให้ร่างกายตื่นตัวได้แต่ในขณะเดียวกันก็น่าจะมีคอกาแฟหลายท่าน (ซึ่งก็รวมถึงตัวของผมเอง) ที่เกิดพฤติกรรมหรือการกระทำที่ค่อนข้างแปลกแยกไปจากสิ่งที่ว่ามาข้างต้นนั่นก็คือยิ่งกินกาแฟยิ่งนอนหลับแถมยังหลับลึก หลับสบาย ตลอดทั้งคืนเสียด้วยเรียกว่าแทนที่จะกระตุ้นประสาทกลายเป็นระงับประสาทไปได้เสียนี่ซึ่งเรื่องที่ว่านี้นั้นเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนทั่วโลกดังนั้นในวันนี้เรามาดูถึงสาเหตุกันดีกว่าครับว่าทำไมคนบางคนเมื่อกินกาแฟแล้วจึงหลับสบายแทนที่จะกระตุ้นให้ตื่นตลอดคืน



รายงานการวิจัยในเรื่องของการดื่มกาแฟแล้วหลับจากต่างประเทศนั้นเขาระบุเอาไว้ครับว่าในร่างกายของคนเรานั้นมันจะมีต่อมรับคาเฟอีน (บางที่ก็อาจจะเรียกว่าตัวรับ) ที่ไม่เท่ากันบางคนนั้นซึ่งในกรณีที่คนที่รับประทานกาแฟนั้นรับประทานกาแฟนปริมาณที่มากกว่าปริมาณของตัวรับที่มีเจ้าสารคาเฟอีก็จะทำให้เกิดอาการตื่นตัว ตาค้าง กระตุ้นประสาทแต่ในขณะเดียวกันในกรณีที่เรารับประทานกาแฟที่มีสารคาเฟอีนน้อยกว่าปริมาณตัวรับในร่างกายของเรามันก็จะทำให้ได้ผลที่ตรงกันข้ามครับคือจะเกิดอาการง่วง หงาว หาวนอน และทำให้หลับสบายในที่สุด



นอกจากนี้เรื่องของน้ำที่ใช้ในการชงกาแฟก็มีผลด้วยเช่นกันครับโดยถ้าหาว่าน้ำร้อนที่เราใช้ในการชงกาแฟนั้นหากเป็นน้ำที่มีจุดเดือดหรือความร้อนที่ไม่ร้อนพอซึ่งโดยมากแล้วการชงกาแฟให้ได้รสชาติที่ดีที่สุดนั้นอุณหภูมิของน้ำต้องอยู่ที่ประมาณ 94 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งการที่น้ำไม่ร้อนพอนั้นก็จะทำให้สารคาเฟอีนในกาแฟไม่แตกตัวซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ทานกาแฟแล้วหลับด้วยเช่นกันเพราะสารเคเฟอีนนั้นไม่สามารออกมาทำหน้าที่ของมันได้เต็มที่นั่นเองครับ

นี่แหละครับเรื่องราวทั้งหมดทั้งมวลที่ว่าเหตุใดทานกาแฟแล้วจึงง่วงและหลับ หวังว่าทุกท่านคงจะพอเข้าใจกันนะครับ สวัสดีครับ

                                                                                                                         กาลาโต้
วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559 | By: กาลาโต้

พฤติกรรมยอดแย่ที่ลูกค้าทำกับร้านกาแฟสาธารณะ!!




สวัสดีคนรักกาแฟทุกท่านครับ

สำหรับบทความในตอนนี้อาจจะดูดราม่าสักหน่อยแต่ทว่ามันก็เป็นเรื่องจริงที่ผมเองเชื่อว่าเจ้าของร้านกาแฟแทบจะทุกร้านอาจจะเคยเจอกับพฤติกรรมของลูกค้าที่ต้องใช้คำว่า "แย่" ไม่เหมาะสมกับร้านกาแฟสาธารณะสักเท่าไหร่แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าลูกค้าจะทำกิริยามารยาท "แย่" ขนาดไหนก็คงน่าจะไม่เคยเจอเหมือนกับแฟนเพจ "เรื่องของคนรักกาแฟ" ท่านหนึ่งที่ไปเจอมากับตัวและนำภาพลงมาโพสต์ที่ facebook ส่วนตัวของตนเองและขอให้เราพูดถึงเรื่องนี้เพื่อบอกให้สาธารณะชนได้รับทราบกัน เอาครับเมื่อขอมาก็จะจัดให้ครับ


เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นมาจากการที่เจ้าของโพสต์นั้นได้ไปทำธุระที่ห้างสยามพาราก้อน ห้างสรรพสินค้าที่เราทราบกันดีว่าเป็นห้างสรรพสินค้าค่อนข้างระดับ Hi End ซึ่งแน่นอนครับว่าร้านกาแฟที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าแห่งนี้แต่ละร้านก็น่าจะมีคลาสมีระดับ สนนราคากาแฟต่อแก้วก็น่าจะสูงพอสมควรซึ่งเจ้าของโพสต์เองก็ได้เลือกที่จะเข้าร้านกาแฟร้านหนึ่งเพื่อจิบกาแฟ

หลังจากที่นั่งรอกาแฟได้สักพักเจ้าของโพสต์ก็เหลือบไปเห็นคนที่นั่งกินกาแฟที่อยู่โต๊ะถัดไปซึ่งแต่งตัวภูมิฐานน่าจะมีหนาที่การงานและมีหน้ามีตาทางสังคมและอาชีพในระดับหนึ่งกำลังทำสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะนำมาปฏิบัติในสถานที่สาธารณะอย่างร้านกาแฟนี้ได้นั่นก็คือการยกขามาพาดบนโต๊ะที่ใช้สำหรับวางแก้วกาแฟและอาหารราวกับว่าอยู่ที่บ้านตัวเองซึ่งมันก็ไม่ใช่แค่เพียงว่ายกขึ้นวางและยกลงนะครับแต่ยังแช่ไว้อย่างนั้นเป็น 5 นาที 10 นาที

จากพฤติกรรมดังกล่าวเชื่อว่าถ้าใครเห็นก็น่าจะคิดเช่นเดียวกันกับผมและเจ้าของโพสต์คือ "ไม่เหมาะสม" อย่างรุนแรงและก็คงไม่มีใครคิดที่จะชื่นชมอย่างแน่นอน อย่าลืมนะครับว่าร้านกาแฟเป็นที่สาธารณะถึงแม้ว่าจะไม่มีใครเห็นก็ตามแต่อย่างน้อยเราเองก็ควรที่จะให้เกียรติสถานที่ ไม่ควรทำกิริยามารยาทเช่นนั้นเพราะจะทำให้ให้คนว่าเอาและพูดถึงมารยาทและสันดานของคนที่แสดงออกในทางลบได้ครับ

ก็ฝากเอาไว้ละกันครับสำหรับวันนี้สวัสดีครับ

                                                                                                                                                                                                    กาลาโต้